อีโคไล (E.coli) คืออะไร

อีโคไล (E.coli) หรือ เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติคนเรามีเชื้ออีโคไลอาศัยในลำไส้อยู่แล้วทุกคนร่วมกับแบคทีเรียอื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่อีโคไลที่ก่อโรค บางทีก็มีประโยชน์เหมือนกัน เช่นช่วยย่อยอาหาร

ส่วนอีโคไลที่ก่อโรคจะพบได้ทั่วไปตามสิ่งแวดล้อมและในสัตว์ แม้ว่าชื่อเดียวกันแต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน คือเป็นอีโคไลสายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนได้ ซึ่งเชื้อดังกล่าวสามารถก่อโรคได้หลายโรค รวมถึงโรคอุจจาระร่วง  ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ก่อโรคอุจจาระร่วงมีมากมาย แต่ที่จัดกลุ่มกันไว้จะเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ที่มีลักษณะการดำเนินโรคและความรุนแรงที่แตกต่างกัน คือ

1. เอ็นเทอโรท็อกซิเจนิคอีโคไล หรือ อีเทค (Enterotoxigenic: ETEC) ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงที่ถ่ายเหลวแบบเป็นน้ำ  อาการมักไม่รุนแรงและส่วนใหญ่หายได้เอง พบก่อโรคได้บ่อยโดยเฉพาะพื้นที่เขตร้อนอย่างในบ้านเรา โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน

2. เอ็นเทอโรพาโธเจนิคอีโคไล หรือ อีเปค (Enteropathogenic E. coli: EPEC) มักก่อโรคในเด็กเล็ก  และพบได้บ่อยในประเทศกำลังพัฒนา  ผู้ป่วยมักมีถ่ายเหลวเป็นมูก ถ่ายไม่มาก แต่มีอาการเรื้อรังได้นานเป็นเดือน ๆในเด็กที่เป็นนาน ๆ บางครั้งอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารแทรกซ้อนได้

3. เอ็นเทอโรอินเวสีฟอีโคไล หรือ อีอิค (Enteroinvasive E. coli: EIEC) เชื้อกลุ่มนี้จะก่อโรคได้รุนแรงขึ้นโดยเชื้อบุกรุกผนังลำไส้ทำให้เกิดแผล ผู้ป่วยมักปวดเกร็งท้องมาก และอาจถ่ายเป็นมูกปนเลือดออกมาได้ แต่พบก่อโรคได้ไม่บ่อย

4. เอ็นเทอโรแอ็กกรีเกทีฟอีโคไล หรือ อีเอค (Entero-aggregative E.coli: EAEC) เชื้อกลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการที่หลากหลาย อาจถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูก และอาจก่อให้เกิดท้องร่วงเรื้อรังได้  แต่ยังไม่ทราบกลไกก่อโรคที่แน่ชัดนัก

5. เอ็นเทอโรเฮโมราจิคอีโคไล หรือ อีเฮค (Enterohemorrhagic E.coli: EHEC) เป็นเชื้อที่ก่อโรคได้รุนแรงมากที่สุด อาการของผู้ป่วยมีความหลากหลาย ตั้งแต่ท้องร่วงถ่ายเหลวเป็นน้ำธรรมดา บางรายอาจถ่ายเป็นมูก แต่อาจมีผู้ป่วยบางส่วนที่อาการรุนแรงมากได้ เนื่องจากเชื้อสามารถบุกรุกผนังลำไส้ ทำให้เกิดแผล รวมถึงเชื้อยังสามารถสร้างสารพิษ "ชิกา" (Shiga toxin) สารพิษนี้สามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ แม้ว่าตัวเชื้ออีโคไลจะไม่ได้เข้าไปในเลือดด้วย โดยเชื้อจะอยู่ในลำไส้และสร้างสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งสารพิษจะไปออกฤทธิ์อยู่ที่ 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ ในระบบเลือด โดยจะไปทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซีดเฉียบพลัน รวมถึงทำลายเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างมาก เป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยจึงอาจเกิดจ้ำเลือดตามผิวหนังและมีเลือดออกที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในได้ อีกระบบหนึ่งคือสารพิษจะไปออกฤทธิ์ทำลายไต หน้าที่การทำงานของไตเสียไป จึงทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน ภาวะทั้งสามนี้ (ซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก เลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ และไตวาย) เรียกรวมกันว่า กลุ่มอาการ "ฮีโมไลติค ยูเรมิค ซินโดรม" หรือ"เอชยูเอส"  (Hemolytic uremic syndrome : HUS) ซึ่งถือเป็นภาวะที่รุนแรงมาก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วมาก

เชื้ออีโคไล O157:H7 เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงจนมีเลือดออก (Bloody Diarrhea) อาการขาดน้ำ (Dehydration) และกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย (Hemolytic Uremic Syndrome-HUS) ได้ โรค HUS เป็นโรคที่ทำลายเม็ดเลือดแดง และจัดเป็นสาเหตุหลักของอาการไตวายโดยฉับพลันในเด็กเล็ก


หญิงมีครรภ์ เด็กทารก เด็กเล็ก คนชรา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในระหว่างทำเคมีบำบัดนั้น เป็นกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอกว่าปรกติอยู่แล้ว จึงเป็นกลุ่มที่อาจติดเชื้อจากอาหาร อย่างเชื้ออีโคไล O157:H7 และเชื้อโรคชนิดอื่นๆได้ง่ายที่สุด

การรับประทานเนื้อบดติดเชื้อที่ยังไม่สุกดีอาจทำให้ติดเชื้ออีโคไล O157:H7 ได้ นอกจากนี้ การบริโภคนมหรือน้ำผลไม้ที่ยังไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรส์ ไส้กรอกที่ยังไม่ผ่านการอุ่นให้ร้อน หรือผักสด ซึ่งอาจมีเชื้อโรคเจือปนอยู่ ก็อาจก่อให้เกิดโรคจากเชื้ออีโคไลด้วยเช่นกัน

เพื่อป้องกันตัวคุณเองและครอบครัวจากเชื้ออีโคไล O157:H7 คุณควรทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ ล้างให้สะอาด (Clean) เก็บแยก (Separate) ปรุงให้สุก (Cook) และ แช่เย็น (Chill)

  • ล้างให้สะอาด (Clean) ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่บ่อยๆ และใช้ภาชนะ ช้อน ส้อม มีดที่สะอาด ทำความสะอาดเคาน์เตอร์ในห้องครัวด้วยน้ำร้อนผสมสบู่และควรเช็ดล้างสิ่งสกปรกทันที เมื่อใดก็ตามที่เตรียมอาหารดิบอย่างเนื้อสัตว์หรือเนื้อเนื้อสัตว์ปีก อย่าลืมล้างพื้นผิวทุกที่ๆเนื้อสัตว์หรือน้ำของเนื้อสัตว์นั้นสัมผัสด้วยน้ำร้อนผสมสบู่

  • เก็บแยก (Separate) เก็บแยกอาหารอื่นๆที่ยังไม่นำมาประกอบอาหารให้ห่างจากเนื้อสัตว์ เนื้อปลา และเนื้อไก่ดิบ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อโรค

  • ปรุงให้สุก (Cook) ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อบด ที่ปรุงจนสุกด้วยความร้อน 160 องศาฟาเรนไฮท์ (ประมาณ 71 องศาเซลเซียส) เท่านั้น วิธีเพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อบดนั้นสุกจนทั่วถึงจริงคือ ต้องนำปรอดวัดความร้อนสำหรับอาหารวัดความร้อนจากภายในเนื้อเท่านั้น พึงจำไว้เสมอว่าสีสันภายนอกของอาหารไม่สามารถบ่งชี้ความสุกของอาหารจานนั้นได้

  • แช่เย็น (Chill) ให้ทำตาม “กฎสองชั่วโมง” คือ ควรแช่เย็นหรือแช่แข็งอาหารภายในสองชั่วโมง แต่หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิเกิน 90 องศาฟาเรนไฮท์ (ประมาณ 32 องศาเซลเซียส) ควรแช่เย็นหรือแช่แข็งอาหารภายในหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น อย่างวางเนื้อสัตว์ดิบ เนื้อปลาดิบ เนื้อสัตว์ปีกดิบ หรืออาหารที่ปรุงเสร็จแล้วไว้นอกตู้เย็น

1 ความคิดเห็น:

  1. พิษต้องแก้ด้วยพิษครับ ต้องใช้ O3 ฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้ครับ
    จากการวิจัยพบว่าการใช้ O3 ฆ่าเชื้อโรคได้เร็วกว่าการใช้คลอรีน 3000 เท่า
    ผมใช้อยู่ครับ ใช้ได้ทั้งในน้ำและอากาศ ใครสนใจทดลองใช้ติดต่อได้ครับ

    ข้อมูลเพิ่มเติม http://tiensozone.blogspot.com/

    ตอบลบ