สู้ไมเกรนหน้าร้อน

อาการปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างอย่าเฉย

          หน้าร้อนปีนี้มาแล้ว มาเร็วและแรงกว่าทุกปีเสียด้วย หลายคนคงนึกถึงสายลม แสงแดด และโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อคลายร้อนกัน แต่คงมีอีกหลายคนเช่นเดียวกันที่เริ่มวิตกกังวล และกลัวว่าหน้าร้อนปีนี้คงจะ ไม่สนุกเหมือนเช่นเคย เพราะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดหัวไมเกรนอีกแล้ว คงเศร้าน่าดู... ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับอาการปวดหัว “ไมเกรน” ให้มากขึ้น เพื่อสู้ไมเกรนหน้าร้อนกันดีกว่า

          ไมเกรน (migraine) เป็นอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญคือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางคนอาจเริ่มจาก ปวดแบบตื้อๆ จี๊ดๆ ก่อน แล้วค่อยรุนแรงขึ้นจนเป็นตุ้บๆ ในที่สุด ความรุนแรงของอาการปวดมีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาของอาการปวดมีความแตกต่างกันในแต่ละคนตั้งแต่ 4-72 ชม. อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการ เคลื่อนไหว ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้นผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมืดและเงียบ เพราะจะทำให้อาการปวดไมเกรนดีขึ้น

          นอกจากนี้บางคนก่อน จะมีอาการปวดไมเกรนอาจมี “อาการนำ” มาก่อนประมาณ 5-20 นาที เช่น เห็นแสงวูบวาบคล้ายแสงแฟลช ตามองไม่เห็นชั่วขณะ หรือชาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น



สาเหตุของไมเกรน
         สำหรับสาเหตุและกลไกของอาการปวดไมเกรนในปัจจุบันยังไม่ทราบชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้พยายามอธิบายถึงสาเหตุ และกลไกของอาการปวดไมเกรนไว้ หลายทฤษฏี ดังนี้

         -  เดิมเชื่อว่าเกิดจากการที่หลอดเลือดในสมองมีการหดตัวเกิดขึ้น หลังจากนั้นร่างกายมีการตอบสนอง โดยการทำให้หลอดเลือดดังกล่าวเกิดการขยายตัว ซึ่งการขยายตัวของหลอดเลือดนี่เองเป็นสาเหตุของการปวดไมเกรน

         -  ต่อมาพบว่า เส้นประสาทคู่ที่ 5 หรือที่เรียกว่า ไทรเจมินัล (trigerminal) และสารเคมีในสมองที่ชื่อซีโรโตนิน (serotonin) ซึ่ง เชื่อว่าการเสียสมดุลของสารเคมีนี้ในสมองเป็นสาเหตุของการปวดไมเกรน เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าเมื่อมีอาการปวดไมเกรน ระดับซีโรโตนินในสมองจะลดลง ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไทรเจมินัล ไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้ม สมองด้านนอก ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวจนบวมและอักเสบในที่สุด

         -  ระยะหลังมานี้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับยีนส์หรือจีโนมิกส์พบว่า ion-transport gene อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดไมเกรน

         -  นอกจากนี้มีการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ไมเกรนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่จะเกิดอาการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่มา กระตุ้นด้วย



ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรน

         ปกติแล้วอาการปวดไมเกรนจะกำเริบขึ้นเมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น ซึ่งแต่ละคนจะมีปัจจัยกระตุ้นที่แตกต่างกันออกไป ปัจจัยกระตุ้นที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

         -  อาหารหรือสารบางชนิด เช่น ผงชูรส สารถนอมอาหาร คาเฟอีน ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์ หรือแม้แต่กินอาหารไม่ตรงเวลา ความหิวก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ในบางคน

         -  การพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนมากหรือน้อยเกินไปอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้

         -  ฮอร์โมน ผู้หญิงบางคนจะมีอาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด บางยี่ห้ออาจกระตุ้นให้มีอาการปวดไมเกรนที่ รุนแรงหรือระยะเวลาในการปวดนานมากขึ้นได้

         -  สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมาก เกินไป” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่

         -  ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อย และรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด



ทราบอย่างไรว่าเป็นไมเกรน

         การวินิจฉัยไมเกรนนั้นจำเป็นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง ความถี่ ระยะเวลาในการปวด และอาการอื่นที่ร่วมด้วย ประวัติโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น เช่น อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือจากภาวะเครียด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง โรคของต่อมใต้สมอง หรือมีเนื้องอก เป็นต้น



“ยา” กับ “ไม เกรน”

สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดไมเกรนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรน

         -  ยากลุ่มแก้ปวด ไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอล แอสไพริน หรือยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบรูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็น ต้น กลุ่มยาเหล่านี้เป็นที่นิยมนำมาใช้ ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนเป็นกลุ่มแรกๆ เนื่องจากมีประสิทธิภาพดี อาการข้างเคียงของยาน้อย และราคาถูก

         -  ยากลุ่ม Ergot alkaloids ได้แก่ ergotamine ในปัจจุบันนี้มีหลากหลาย ยี่ห้อในท้องตลาด จัดเป็นยาอีกกลุ่ม หนึ่งที่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรน ข้อดีของยากลุ่มนี้คือ ยาออกฤทธิ์ได้นานและลดการกลับเป็นซ้ำของไมเกรนได้ในบางราย ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยา ergotamine เพียงตัวเดียวในการรักษาหรืออาจ ให้ร่วมกับยากลุ่มแก้ปวด หากอาการปวดไมเกรนยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวด และสภาพร่างกายของแต่ละคน

          สำหรับผลข้างเคียงที่สำคัญของยา ergotamine ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดตามแขนขาหรือกล้ามเนื้อ มีอาการชา รู้สึกหนาวตามปลายมือปลายเท้า ปวดศีรษะ เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์ทันที และเนื่องจากยา ergotamine ที่จำหน่ายในท้องตลาด อยู่ในรูปแบบที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีนร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมยา ergotamine ได้ดีขึ้น ดังนั้นนอกจากผลข้างเคียงจากยา ergotamine แล้ว บางคนยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากคาเฟอีนด้วย ได้แก่ ใจสั่น ปวดศีรษะ เป็นต้น

         คำแนะนำสำหรับการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของ ergotamine คือ ไม่ควรกินเกินวันละ 6 เม็ด และไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 10 เม็ด นอกจากนี้ยังห้ามใช้ยากลุ่มนี้ ในผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือดและ หัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ ผู้ที่มีภาวะไตวาย หรือในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

         -  ยากลุ่ม Triptans เช่น sumatriptan, zolmitriptan เป็นต้น เป็นกลุ่มยาที่ถูกพัฒนามาใหม่เพื่อใช้ใน การบรรเทาอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะ ข้อดีของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ออกฤทธิ์เร็วและลดการกลับเป็นซ้ำของไมเกรนได้ดี นอกจากนี้ยังลดปัญหาการเกิด headache recurrence (เป็นอาการปวดศีรษะที่แย่ลง โดยเกิดขึ้นหลังจากอาการปวดไมเกรนดีขึ้นเมื่อกินยาแล้วภายใน 24 ชั่วโมง) ได้ดีกว่ายา ergotamine และมีผลข้างเคียงจากยาน้อย อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงในปัจจุบัน แพทย์จึงมักพิจารณาให้ในผู้ที่มีการกลับเป็นซ้ำของไมเกรนบ่อยๆ

         คำแนะนำสำหรับการใช้ยากลุ่มนี้คือ ควรกินยากลุ่มนี้ทันที เมื่อเริ่มมีอาการปวดไมเกรน เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้อย่างสูงสุด และยากลุ่มนี้ก็มีข้อห้ามใช้เช่นเดียวกันกับยา Ergotamine คะ



กลุ่มที่ใช้เพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรน

      สำหรับยาที่ใช้เพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรน นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ในผู้ที่ปวดไมเกรนทุกราย โดยแพทย์จะพิจารณาให้ในบางรายเท่านั้น เพื่อช่วยให้ความรุนแรงและ/หรือความถี่ของอาการปวดไมเกรนลดน้อยลง กลุ่มผู้ที่ควรได้รับยาป้องกันอาการปวดไมเกรน

      - ผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนมากกว่า 2 ครั้ง ต่อเดือน
      - ผู้ที่มี อาการปวดรุนแรงจนมีผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
      - ผู้ที่มี แนวโน้มว่าอาการปวดไมเกรนจะรุนแรงมากขึ้น หรือปวดเป็นระยะเวลานานมากขึ้น


        ยาที่ใช้เพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรนในปัจจุบันนี้มีหลาก หลายชนิด โดยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อให้เกิดการเลือกชนิดของยาและการปรับ ขนาดยาให้เหมาะสมกับแต่ละราย ควรกินยาป้องกันอาการปวดไมเกรนอย่างต่อเนื่องจนอาการปวดสงบลงนาน 6-12 เดือน แพทย์จึงอาจพิจารณาหยุดยา และถ้าอาการปวดไมเกรนกำเริบขึ้นอีกครั้ง จึงค่อยเริ่มกินยาป้องกันใหม่



ตัวอย่างกลุ่มยาป้องกันอาการปวดไมเกรน เช่น

         -  กลุ่มยาต้านเบต้า (Beta-blockers) เช่น propanolol, atenolol, metoprolol, nadolol เป็นต้น
         -  กลุ่มยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) เช่น flunarizine, verapamil เป็นต้น
         -  ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น amitriptyline, nortriptyline เป็นต้น
         -  ยากันชักบางชนิด เช่น sodium valproate, topiramate เป็นต้น

      การรักษาอาการปวดไมเกรนนั้นไม่ยากอย่างที่คิดนะคะ เพียงแค่ดูแลทั้งสุขภาพกายแลสุขภาพจิตให้ดี หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยกระตุ้นอาการปวด แค่นี้ก็สามารถลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดได้แล้วค่ะ


Tips

         -  เมื่อคุณจำเป็นต้องเดินออกไปในที่ที่มีอากาศร้อน อาจป้องกันการปวดศีรษะจากไมเกรน ได้โดยการดื่มน้ำเย็นหรืออมน้ำแข็งไปด้วยขณะเดิน ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนระหว่างเดินทำให้ไม่ปวดศีรษะ

         -  เมื่อเริ่มมีอาการไม่ควรชะล่าใจ ให้รีบรับประทานยาบรรเทาปวดเลย เพราะหากปล่อยให้อาการปวดมากขึ้น อาจอาการจะบรรเทาได้ยากขึ้นหรือต้องใช้ยา ที่แรงขึ้น

         -  ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ อาจทำให้ไมเกรนกำเริบขึ้นได้ง่ายและมีอาการรุนแรง เมื่อปวดศีรษะแล้วนอกจากใช้ยาบรรเทาปวด ให้ใช้ก้อนนำแข็งหรือกระเป๋านำแข็งประคบที่ศีรษะ เพื่อช่วยให้เส้นเลือดหดตัวลง ก็จะสามารถช่วยบรรเทาอาการลงได้ แต่บางคนการนอนหลับก็สามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้

         -  บางคนเมื่อมีอาการปวดขึ้นมา อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวดไมเกรน เพียงแค่ใช้การนวด การกดจุด บริเวณเส้นเลือดใหญ่หลังใบหู

         -  หากอาการปวดไมเกรนไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นต่อไป เพื่อให้เกิดการรักษาได้อย่างทันท่วงทีคะ



นพ.รังสรรค์ อยู่บาง อายุรแพทย์
ภญ.อัมพร อยู่บาง

อ้างอิง http://variety.teenee.com/foodforbrain/25462.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น